"สบายดีมั้ย?"
เมื่อได้ยินคำถามนี้ คำตอบที่ได้ยินทั่วไป คือ สบายดี(เชิงบวก) ก็เรื่อยๆ เนือยๆ (กลางๆ)
และแย่เลย(เชิงลบ)
คำตอบในเชิงบวกและลบแสดงความรู้สึกออกมาชัดเจน เราสามารถตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ได้ทันทีและรู้ว่าคนตอบรู้สึกอะไร
ส่วนคำตอบ เนือย ๆ เรื่อย ๆ เรามักให้คำนิยามว่า "ปกติ" ดังนั้นเมื่อได้ยินแบบนี้เราจะหยุดถามต่อ แต่ในความเป็นจริง...อาจมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น
สภาวะเรื่อย ๆ เนือย ๆ ไม่ได้เดือดร้อน มีคนตั้งชื่อเรียกความรู้สึกนี้ขึ้นมาว่า ‘Languishing’
Languishing คือความรู้สึกที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Flourishing (ความเปี่ยมสุข) และ Depression
(ความหดหู่ซึมเศร้า) ดูแล้วก็น่าจะเป็นความรู้สึกกลางๆ ไม่ส่งผลอะไรกับชีวิต ไม่ดีไม่แย่
แต่จากการศึกษาพบว่า ภาวะ Languishing มีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียต่อจิตใจในระยะยาวได้ คนที่มีภาวะนี้มักไม่รู้ตัวเพราะอาการไม่หนักจนดูผิดไปจากปกติ ไม่รู้สึกสนุกสนานในชีวิต ไม่รู้สึกถึงอารมณ์เชิงบวกใดๆ และไม่เชิงเป็นทุกข์ จมอยู่กับอดีต แค่อยู่ตรงกลางไม่ไปไหน ไม่มีความก้าวหน้าในชีวิต ไม่รู้ว่าอยากจะทำอะไรต่อไปในอนาคต เหมือนจะสิ้นหวังแต่ยังไม่ได้หมดหวังเสียทีเดียว ฟังดูคุ้น ๆ มั้ย?
และเพราะความไม่หนักหนาสาหัสของภาวะ Languishing จึงทำให้พบได้บ่อยกว่าสภาวะซึมเศร้าแต่สังเกตเห็นได้ยากกว่า
Adam Grant ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Think Again: The Power of Knowing What You Don’t Know เสนอวิธีออกจากภาวะ Languishing โดย
1.เราต้องพาตัวเองไปอยู่ใน Flow state หมายถึง การใช้เวลาและให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเข้มข้นจนไม่รู้สึกถึงสิ่งรอบข้าง อาจจะเป็นการทำงาน งานอดิเรก ดูหนังหรือซีรี่ย์ เกมส์ที่ชอบ
2.การกำหนดเป้าหมายเล็ก ๆ (Small wins) และทำให้สำเร็จในแต่ละวัน จากนั้นค่อยๆขยายเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น
ทั้งความเพลิดเพลินจาก Flow state และความภูมิใจในตัวเองจาก Small wins จะทำให้เราค่อยๆก้าวออกมาจากจุดเดิมทีละนิด จนเราสามารถกลับมามีอารมณ์เชิงบวกและก้าวไปข้างหน้าได้อีกครั้ง
เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตมนุษย์เหมือนการใช้ดินสอลากเส้นต่อจุดไปเรื่อยๆ สิ่งนี้นำพาให้เราไปเจอสิ่งนั้นและต่อกันไปมา จนเป็นเราทุกวันนี้
มาถามตัวเองกันว่าวันนี้ดินสอของคุณหยุดอยู่กับที่หรือกำลังลากไปยังจุดข้างหน้า...
