เรื่องเล่าของฉัน vs ความจริง
คนที่มีเรื่องเล่าในหัวแตกต่างจากความจริงบนโลกนี้โดยสิ้นเชิง อาจถูกเรียกว่า “วิกลจริต” เพราะสิ่งที่คนเหล่านี้รับรู้และตีความออกมาไม่เชื่อมโยงกับความจริงที่คนอื่นๆมองเห็น เป็นภาวะผิดปกติชนิดหนึ่ง
.
"จิตของมนุษย์คือเครื่องจักรผลิตความหมาย"
.
เรารับรู้สิ่งรอบตัวและตีความอยู่ตลอดเวลา
.
เวลาส่วนใหญ่ของเรามักเกี่ยวพันกับการให้ความหมายสารพัดข้อมูลที่ผ่านเข้ามาในประสาทสัมผัส เราตีความสิ่งต่างๆเพื่อให้เป็นระเบียบและจดจำได้ง่ายขึ้น
.
เช่น วันนี้ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่านาฬิกาไม่ปลุกตามที่ตั้งไว้ นี่เป็นเวลาสายแล้ว ต้องรีบลุกไปอาบน้ำแต่งตัว เพื่อนที่นัดไว้ต้องยืนรอ แดดก็ร้อน และเขาจะอารมณ์เสียเพราะเขาเป็นคนหงุดหงิดง่าย เมื่อวันก่อนเห็นเขาเสียงดังใส่พนักงานเสิร์ฟ วันนี้ต้องโดนเขาว่าให้ชุดใหญ่ไฟกระพริบแน่ๆ วันนี้ดูท่าจะไม่สนุกแล้ว
.
นั่นคือ คำบรรยายที่เรากำลังเล่าเรื่องราวให้ตัวเองฟัง เพื่อให้รับรู้ คาดการณ์และวางแผนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น
.
ปัญหาคือ เรามักคิดว่าสิ่งที่เราพูดกับตัวเองเป็นข้อเท็จจริง เมื่อเราพูดกับตัวเองบ่อยๆว่านี่คือความจริง ไม่ว่ามันจะตรงกับความเป็นจริงบนโลกหรือไม่ เราจะเชื่อเรื่องที่บรรยายให้ตัวเองฟังอย่างสนิทใจ เพราะเราเชื่อว่าความจริงที่บอกกับตัวเองเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว
.
เพื่อนอาจจะไม่ได้ยืนรอเราอยู่เพราะรถติดมาสายหรือยืนรอแล้วไปหาที่นั่งรอ เราอาจจะคิดไปเองว่าเขาเป็นคนหงุดหงิดง่ายเพราะวันนั้นเห็นเขาพูดเสียงดังใส่พนักงานเสิร์ฟ วันนี้ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจจะอารมณ์ไม่ดีและต่อว่าเราเช่นกันถ้าต้องมารอ
.
เรื่องเล่าด้านบนมีประโยคที่เป็นความจริงคือ เราตื่นสาย ต้องรีบไปให้ทันนัด มีเพื่อนมายืนรอ เมื่อวันก่อนเห็นเพื่อนคนนี้พูดเสียงดังใส่พนักงานเสิร์ฟ นอกนั้นล้วนเป็นความคิดใส่สีและการตีความเหตุการณ์เพิ่มเติม แต่เราทำแบบนั้นเพื่อจัดระเบียบความคิดและจดจำได้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร
.
เราสร้างเรื่องเล่าแบบนั้นให้ตัวเองฟังทุกวัน เพราะมีตัวพูดพล่ามในใจ(chatterbox) มันมักจะพูดคำวิจารณ์ ข้อสังเกต การวิเคราะห์ตลอดเวลาและน่าเสียดายที่ผู้บรรยายคนนี้ไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่
.
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือตัวละคร เอมี่ ดันน์ ในเรื่อง Gone Girl ซึ่งเล่าเรื่องให้เราเชื่อตั้งแต่ต้นว่าเธอตกเป็นผู้ถูกกระทำโดยสามีชื่อ นิค ที่กำลังนอกใจไปมีคนอื่น ระหว่างการดำเนินเรื่อง เรามองว่านิคเป็นตัวร้ายจากการเล่าเรื่องของเธอ แต่ในตอนจบเราได้เห็นความจริงตรงข้ามกับเรื่องเล่านั้นโดยสิ้นเชิง
.
เรื่องเล่าของเราเป็นส่วนผสมกันอย่างซับซ้อนระหว่างการตีความและการตัดสิน บ่อยครั้งที่เรายอมรับว่า มันเป็นเรื่องจริง ความจริงหรือข้อเท็จจริง
.
เรื่องเล่าในหัวบางอย่างเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์และช่วยเราได้ ในขณะที่บางอย่างก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าหรือความคิดใดมักจะเต็มไปด้วยอคติ
.
ถ้าเราไม่ต่อเติมออกไป ความคิดนั้นจะเป็นข้อเท็จจริง
.
กรณีข้างต้นคือ เราตื่นสาย ต้องรีบเตรียมตัวไปให้ทันนัด แค่นี้เท่านั้นที่เป็นข้อเท็จจริง
.
เสียงพูดพล่ามที่คาดเดา วิเคราะห์ วิจารณ์เกินไปจากนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจความจริงผิดไป
.
.
เมื่อเราเล่าเรื่องไม่ตรงกันกับความจริงมักเกิดปัญหาตามมา ความไม่ลงรอยนี้ส่งผลกระทบทั้งความสัมพันธ์ การงานและสุขภาพจิตซึ่งแทบจะนับเป็นทั้งหมดชีวิตของเรา
.
.
ถ้าเป็นไปได้เราคงขอให้มีสวิตช์ปิดเสียงพูดพล่ามหรืออย่างน้อยขอให้มีกรรมการที่คอยเตือนว่าเรื่องเล่าในหัวกับความจริงไม่ตรงกันและเริ่มห่างไกลกันเกินไปแล้วนะ
.
เสียดายที่ไม่มีสวิตช์แบบนั้นในชีวิตจริงแต่โชคดีที่เราสามารถฝึกให้ผู้บรรยายหรือตัวพูดพล่ามเป็นกรรมการคนนั้นได้ (ตอนหน้าๆเราจะมาพูดถึงวิธีฝึกผู้บรรยายในหัว)
.
แล้วในขณะนี้ผู้บรรยายหรือตัวพูดพล่ามของคุณเล่าเรื่องใกล้เคียงกับความจริงให้คุณฟังอยู่มากน้อยแค่ไหนกันนะ
.
.
.
.
#สุขศาสตร์ #ความสุข #สิ่งสำคัญ #หนังสือ #การอ่าน #ความสัมพันธ์
