12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต
ข้อที่ 1 ยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง . ท่าทางของเราบ่งบอกสภาพความเป็นจริงของตัวเรามากกว่าที่คาดคิดและยังส่งผลต่อปฏิกิริยาที่คนอื่นมองมายังตัวเราด้วย หากนำเสนอตัวเองด้วยท่าทางห่อเหี่ยว ไหล่ห่อ หน้าอกหด ดูเหมือนคนพ่ายแพ้ คนอื่นจะตอบโต้ราวกับว่าเราเป็นคนพ่ายแพ้จริงๆ แต่ถ้าเรายืดตัวตรงอกผ่ายไหล่ผึ่ง ด้วยความมั่นใจ คนอื่นก็จะมองและปฏิบัติต่อเราต่างออกไป . ข้อที่ 2 ดูแลตัวเองให้ดี เหมือนเวลาที่ดูแลคนอื่น . เมื่อรู้สึกดีต่อคน สัตว์ หรือสิ่งของ เรามักจะดูแลสิ่งนั้นได้ดีมากกว่าดูแลตัวเองเสียอีก เพราะเราใช้เวลานึกถึงสิ่งที่ต้องดูแลโดยไม่ได้ใช้เวลาเพื่อตัวเอง ดังนั้นเราควรย้อนกลับมาคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับเราในตอนนี้และในอนาคตด้วยเช่นกัน การดูแลตัวเองให้ดีก็เหมือนปกป้องคนที่เรารู้สึกดีไปด้วยนั่นแหละ เพราะถ้าเราเป็นอะไรไปคน สัตว์หรือสิ่งของนั้นก็จะขาดคนดูแลเช่นกัน . ข้อที่ 3 คบหาคนที่อยากให้คุณได้ดี . แล้วทำไมเราถึงจะคบคนที่ไม่อยากให้เราได้ดีล่ะ? . คำตอบอาจจะเป็นเพราะเรามีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนประเภทนี้มากกว่า เรารู้อยู่แล้วว่าควรเลือกคบเพื่อนที่อยากทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง แต่การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ใช้เวลากับเพื่อนประเภทตรงข้าม ทำให้เราต้องพิจารณาเลือกใช้เวลาและให้คุณค่าอย่างเหมาะสม การเลือกคนที่ดีต่อตัวเราเองเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว การมีเพื่อนที่สนับสนุนกันและกัน ช่วยพากันไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นเป็นกฏที่ควรจำไว้และนำไปปฏิบัติ . ข้อที่ 4 เปรียบเทียบตัวคุณกับคนที่คุณเป็นในอดีต . คนเราถูกเลี้ยงดูมาต่างกัน พบเจอปัญหาในชีวิตที่ต่างกัน เราไม่ควรนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเลย เราเป็นคนที่มีอยู่หนึ่งเดียวในโลก คนอื่นๆก็เช่นกัน ทุกคนมีปัญหาของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องเงิน ความสัมพันธ์ จิตใจ วิธีคิด สิ่งที่เราควรยกมาเปรียบเทียบคือ “ตัวเราในอดีต” เราเปลี่ยนไปอย่างไร เราแก้ปัญหาได้ดีขึ้นมั้ย มีทักษะใดที่พัฒนาขึ้นบ้าง การเปรียบเทียบเช่นนี้จะทำให้เห็นการเติบโตของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ข้อที่ 5 อย่าให้ลูกของคุณทำสิ่งที่คุณไม่ชอบ การปล่อยให้ลูกที่เรามีส่วนรับผิดชอบ เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่สังคมรังเกียจ เป็นเรื่องน่าเจ็บปวด ลองสังเกตเวลาที่เด็กกรีดร้องเสียงดังในที่สาธารณะ ลองสังเกตสีหน้าและแววตาของคนที่เดินผ่านไปผ่านมา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจจะเกลียดเด็กคนนั้น และบางส่วนคงโทษที่พ่อแม่ไม่ยอมฝึกระเบียบวินัยลูกให้ดีพอก่อนที่จะพาออกมานอกบ้าน ต่างจากเด็กๆ ที่ได้รับการเอาใจใส่และฝึกสอนจากพ่อแม่ พวกเขาจะมีเพื่อนในทุกที่ที่ไป เรียนรู้กฎการอยู่ร่วมในสังคมได้ง่ายยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าจะไม่มีใครเกลียดเขา . ข้อที่ 6 ดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนจะวิจารณ์โลก เนื่องจากมีหลายสิ่งบนโลกนี้ที่ไม่ได้ดั่งใจเรา การเฝ้าตำหนิโลก สิ่งนั้นไม่ดี คนนี้ชั่ว ไม่ใด้ช่วยบันดาลให้อะไรได้ดั่งใจอยู่ดี และแถมบิดงอจิตใจของเราในทุกๆวัน คนที่ช่างวิจารณ์ไปหมด (ยกเว้นตัวเอง) อาจเหมือนคุยด้วยสนุกออกรส แต่ถึงเวลา คงไม่มีใครอยากมีคนแบบนั้นไว้ในชีวิต โลกไม่ได้หมุนได้เพราะคนที่เฝ้าจับผิดคนอื่น แต่จะสงบสุขได้โดยคนที่มองเข้าสู่จิตใจตนเอง เฝ้าสังเกตและแก้ไข เพื่อจะเป็นคนที่ดีขึ้นอีกสักนิด เพื่อครอบครัวและคนรอบตัวจะได้สงบสุขขึ้นอีกสักหน่อย บ้างก็เพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น . คำกล่าวแห่งปัญญาว่าไว้ว่า คนนี้มีวุฒิภาวะหรือไม่ ดูได้จากการที่เขาเลิกก่นด่า คาดหวังจากสิ่งที่อยู่รอบตัว แล้วยุ่งอยู่กับการเปลี่ยนแปลงตัวเองแทน ฉะนั้นเป็นการฉลาดที่จะถามตัวเองเสมอว่า “ตัวฉันยังมีอะไรต้องทำอีกบ้าง” . ข้อที่ 7 ทำสิ่งที่มีความหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายทันใจ . เรามักใช้มุมมองระยะสั้นและคับแคบ เลือกทำสิ่งต่างๆโดยเน้นง่ายเข้าว่า การกระทำแบบนี้มักเกิดจากจิตใจที่เปล่าเปลี่ยวและแตกแยกอยู่ภายใน การทำสิ่งที่มีความหมายนั้นไม่ง่าย แต่นำมาซึ่งความสุขสงบใจอย่างยั่งยืน การทำตัวเองให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งตอนนี้ พรุ่งนี้ และในอนาคต เพื่อตัวคุณ เพื่อครอบครัว นั่นช่วยสร้างจิตใจที่มั่นคงเป็นหนึ่งเดียว . ข้อที่ 8 พูดความจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่โกหก . การโกหกเล็กๆ หลายๆ ครั้งก็จะทำให้มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นกระบวนการคิดจะบิดเบือน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเปิดโปงและความอับอาย การโกหกจะเกิดขึ้นและวนไปเรื่อยๆเพื่อปกปิดความจริง . หากไม่อยากเกิดวงจรอุบาทว์เช่นนี้ เราต้องเริ่มจาก “พูดความจริง” หรืออย่างน้อยก็ “ไม่โกหก” แม้จะสิ่งที่ตามจะสร้างปัญหาขึ้นมาบ้าง แต่ก็เป็นการเผชิญกับความจริง เพื่อแก้ไข ไม่ใช่หลอกลวง . ข้อที่ 9 สงสัยไว้ก่อนว่าคนที่คุณกำลังฟัง อาจรู้บางสิ่งที่คุณไม่รู้ . ต่อให้คนที่ถูกมองว่าโง่ที่สุดก็ยังสอนอะไรบางอย่างให้กับเราได้ ดังนั้นถ้าเราจะฟังใครสักคนแล้ว ให้ฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อด่วนจะตัดสินหรือมองเป็นเรื่องขำ เพราะมันอาจทำให้ทั้งเราและเขาพลาดสิ่งสำคัญบางอย่างที่อาจค้นพบร่วมกันหรือบางอย่างที่จะทำให้เข้าใจกัน ยิ่งถ้าเราได้รับความไว้วางใจเป็นที่ปรึกษาของใครบางคน แค่การปล่อยให้เขาพูดสิ่งที่ต้องพูดออกมา ก็จะช่วยให้เขาค้นพบคำตอบในจิตใจตัวเองแล้ว . ข้อที่ 10 พูดอะไรให้ชัดเจน จงพูดออกมาตามที่ตั้งใจและทำตามสิ่งที่เราพูด ต่อให้ผลที่ตามมาเป็นอย่างไรก็ตาม การพูดออกมาให้ชัดเจน คือวิธีที่เราจะได้ค้นพบความหมายและช่วยปกป้องเราจากโศกนาฏกรรมความเสียดายในชีวิต . ข้อที่ 11 อย่าไปยุ่งเวลาที่เด็กๆ เล่นสเกตบอร์ด เราไม่รู้เลยว่าเด็กๆที่กำลังเล่นสเกตบอร์ดหน้าบ้านอาจจะกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือได้กลายเป็นยูทูบเบอร์ที่มีฟอลโลวเวอร์หลักล้าน เราอาจมองเห็นแค่เด็กๆที่กำลังหาความบันเทิงจากความผาดโผนและอาจเจ็บตัวได้ทุกเมื่อและพวกเขาไม่ได้พยายามที่จะปลอดภัย แต่พยายามที่จะเก่งขึ้น และความเก่งนี่เองที่ทำให้คนเราปลอดภัยได้มากเท่าที่จะเป็นได้อย่างแท้จริง อย่าไปยุ่งกับเด็กๆพวกนั้นเลย . ข้อที่ 12 หยุดเพื่อลูบแมวที่เจอตามถนนบ้าง กฏข้อสุดท้ายนี้ผู้เขียนหนังสือพูดถึงการมองเห็นโอกาสดีๆในวันแย่ๆ เช่น การเจอแมวสักตัวแล้วใช้เวลากับมัน ถ้าเราครุ่นคิดและใส่ใจก็อาจจะได้สิ่งเตือนใจบางอย่างกลับมา ถึงจะเป็นวันที่หม่นหมองแต่เราสามารถเอนจอยกับสิ่งเล็กๆน้อยๆเพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาได้นะ . . . . จากหนังสือ 12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต เขียนโดย จอร์แดน บี. ปีเตอร์สัน