top of page

'In praise of wasting time' คุณค่าของการทอดเวลา


16.10 เริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้

16.13 มีเมสเสจจาก FB ตอบเมสเสจ

16.20 อ่านหน้าสองต่อ

16.23 มีข้อความของลูกน้องส่งมาทางไลน์ เปิดอ่าน

16.25 อ่านหน้าสามต่อ

16.30 สายเรียกเข้าจากที่บ้าน

.

ท่ามกลางโลกที่สับสนและวุ่นวายในปัจจุบัน ยังจำตอนเราเป็นเด็กที่สามารถนอนหงายมองดูก้อนเมฆ หรือนับดาวบนท้องฟ้า แล้วปล่อยให้จิตใจของเราล่องลอยไปได้ไหม? แต่ตอนนี้ถ้าเราทำแบบนั้นอีก เราจะคิดว่า “เสียเวลาแย่" ... แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเวลาเหล่านั้น? วันนี้ทำไมเราจึงเร่งรีบจากการงาน งานแล้วงานเล่า..มิได้หยุด

.

เรา"เสียบปลั๊ก" ตัวเองเข้ากับสมาร์ทโฟนของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่พลาดเหตุการณ์หรือข่าวสารอะไรไป

.

หนังสือเล่มนี้พูดถึง การถอยห่างออกจากชีวิตที่ขับเคลื่อนไปด้วยความเร็ว ด้วยการแค่ ‘เสียเวลา’ สักหน่อย

.

.

Digital network

.

ทำให้มนุษย์อยู่ในสถานะที่ต้องเชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลาจนเสพติด ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘FOMO’ หรือ Fear Of Missing Out เราอยู่ในยุคที่แทบจะเป็นไปไม่ได้หากต้องนั่งอยู่เฉยๆเงียบๆคนเดียวโดยไม่ทำอะไรเลย

.

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและฮาร์เวิร์ด ได้ทำการทดลองกับนักศึกษาจำนวน 146 คน โดยให้นั่งอยู่บนเก้าอี้ตามลำพังในห้องที่เงียบสงัดเป็นเวลา 12 นาที และห้ามไม่ให้นำอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารทั้งมือถือและนาฬิกาติดตัวเข้าไปด้วย ที่เก้าอี้นั่งของแต่ละคนจะมีปุ่มซึ่งนำกระแสไฟฟ้าอ่อนๆไปยังผู้เข้าร่วมการทดลอง ก่อนเริ่มการทดลองผู้เข้าร่วมการทดลองถูกขอให้กดปุ่มเพื่อทำการทดสอบกระแสไฟฟ้า ผู้เข้าร่วมการทดลองพบว่ากระไฟฟ้านั้นช็อตได้จริง และไม่อยากที่จะถูกช็อตอีก

.

เมื่อเริ่มการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับคำสั่งให้นั่งนาน 10 หรือ 12 นาที โดยห้ามเผลอหลับและห้ามลุกออกจากเก้าอี้ แต่ยังสามารถกดปุ่มปล่อยกระแสไฟได้

ผลการทดลองพบว่าในการทดลองช่วง 12 นาที ผู้ชาย 67 % และผู้หญิง 25% แทนที่จะนั่งอยู่เฉยๆ กลับเลือกที่จะช็อตตัวเอง!

.

.

ความเร่งรีบ

.

เมื่อโลกให้ค่าความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับประสิทธิภาพงาน จึงทำให้เกิดสมการ

‘เวลามีค่า = เงิน’ ขึ้นตามมาด้วย ความคิดที่จะใช้เวลาทุกขณะให้มีค่าจึงส่งผลต่อทุกแง่มุมของชีวิต

.

Sanford E. DeVoe & Julian House จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ทำการทดลองโดยการสอบถามถึงเรื่องงานและรายได้ประจำปีของนักศึกษาแต่ละคน จากนั้นแบ่งนักศึกษาออกเป็นสองกลุ่ม

.

กลุ่มที่ 1 ให้ฟังท่อนแรกของเพลง The Flower Duet จากโอเปร่าเรื่อง Lakme’

.

กลุ่มที่ 2 ก่อนที่จะได้ฟังเพลงเดียวกัน จะต้องคำนวณค่าจ้างรายชั่วโมงของตัวเองออกมาก่อน

.

หลังจากทั้งสองกลุ่มฟังเพลงจบ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกถามทันทีว่า “ตอนนี้คุณมีความสุขระดับใด?”

ผลการทดลองพบว่า กลุ่ม 1 ซึ่งไม่ต้องคำนวณค่าแรง มีความสุขมากกว่ากลุ่มที่ 2

.

สรุปได้ว่า เมื่อเรามัวแต่ประเมินคุณค่าของเวลาออกมาเป็นตัวเงิน เราก็จะสูญเสียความสามารถในการรับประสบการณ์ความสุขไปด้วย

.

.

การเล่น

.

การเล่นช่วยให้เด็กๆได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาจินตนาการ ฝึกความคล่องแคล่วและความแข็งแรงของร่างกาย เสริมพัฒนาการในการรับรู้และอารมณ์ แต่ด้วยตารางเวลาของเด็กยุคปัจจุบันที่อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต ทำให้ผู้ปกครองลดเวลาเล่นของเด็กลงไปมาก สำหรับผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน การเล่นหรือการปล่อยให้มีเวลาพักบ้างนั้นมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของเรา

.

Jihae Shin จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ได้ทำการทดลองเพื่อทดสอบว่าการเล่นนั้นมีผลต่อความคิดเชิงธุรกิจที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร โดยการทดลองแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม

.

กลุ่มที่ 1 ให้โจทย์ และให้เริ่มออกความคิดทันที

.

กลุ่มที่ 2 ให้โจทย์ และให้เล่นเกมง่ายๆเช่น Solitaire หรือ Mine Sweeper โดยให้ใช้เวลาไม่กี่นาที ก่อนที่จะออกความคิด

.

กลุ่มที่ 3 ให้เล่นเกมก่อนที่จะได้รับโจทย์

.

ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ 2 ซึ่งได้เล่นเกมไม่กี่นาทีก่อนทำโจทย์ มีความคิดสร้างสรรค์ดีที่สุด ในขณะที่กลุ่ม 3 ซึ่งให้เล่นเกมก่อนที่จะได้รับโจทย์ มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ต่างจากกลุ่มที่ 1

.

สรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์นั้นน่าจะมาจากการปล่อยให้มีช่วงเวลาครุ่นคิดปัญหาในระดับจิตใต้สำนึก การได้บ่มเพาะปัญหาเข้าไปในความคิดก่อนเล่น หรือปล่อยเวลาให้สมองได้พักจึงเป็นเรื่องสำคัญ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมโรงเรียน จึงต้องปล่อยให้นักเรียนได้พัก 10-15 นาที ในทุก 40-45 นาทีของการเปลี่ยนคาบเรียน

ผลการวิจัยหลายชิ้นพบว่า เมื่อเด็กๆได้พัก จะผ่อนคลาย มีสมาธิและเรียนรู้ได้ดีขึ้น

.

.

จิตที่ท่องไปอย่างเสรี

.

Hans Berger แพทย์ชาวเยอรมัน ค้นพบว่า สมองนั้นวุ่นวายเสมอ แม้ในช่วงที่ดูเหมือนพักผ่อนอยู่ ที่จริงแล้ว ในเวลาพัก สมองใช้พลังงานน้อยกว่าเวลาทำงานโดยรู้ตัวเพียง 5%

.

การที่ได้ใช้เวลานั่งทอดความคิด สามารถนำไปสู่กระบวนการสร้างสรรค์และการค้นพบสิ่งใหม่ๆที่สำคัญ เพราะสมองนั้นทำงานอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาพัก

.

ในขณะที่ปล่อยให้ความคิดล่องลอยไป สมองส่วนที่เรียกว่า association cortex จะมี activity เพิ่มขึ้น ในขณะที่สมองส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงจะมี activity ลดลง สมองทั้งสองส่วนนี้จึงทำงานสลับกันอยู่ตลอดเวลา

.

ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ จึงต้องอาศัยการคิดทั้งแบบ divergent thinking และแบบ convergent thinking ควบคู่ไปด้วยกัน

.

.

Chronos เวลานาฬิกา และ Kairos เวลาแห่งชีวิต

.

Chronos คือเวลาเชิงปริมาณตามเข็มนาฬิกา ซึ่งจะเดินเรื่อยไปไม่หยุดยั้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตของมนุษย์

.

Kairos คือเวลาที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ของมนุษย์ อาจเป็นเพียงช่วงเวลาของมื้ออาหาร หรือห้วงยามรัก ช่วงเวลาที่ไม่สำคัญก็ไม่นับว่ามี Kairos อยู่

Kairos เป็นนิรันดร์ เป็นเวลาแห่งความทรงจำและเวลาแห่งการดำรงอยู่

.

การให้ความสำคัญกับเวลา Kairos คือการอยู่เฉยๆบ้าง ทอดเวลาให้กับการไตร่ตรองใครครวญฟื้นฟูจิตใจ เสริมสร้างตัวตน เป็นช่วงเวลาที่จะซ่อมแซมสุขภาพจิตของเรา นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่ใช่ความผิดบาปและไม่ได้เป็นการเสียเวลาแต่อย่างใด

.

.

ปิดเครื่องและเติมพลัง

.

ทำไมเราจึงต้องการช่วงเวลาเงียบๆ และความสงบนิ่งเพื่อที่จะค้นหาตัวตนภายใน จินตนาการถึงความฝันนั้น

.

สำรวจและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นใครและอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเรา

คำถามที่สำคัญในชีวิตจริงๆก็คือ เราควรอยู่ในโลกอย่างไรและทำไมเราถึงใช้ชีวิตแบบนั้น?

.

การได้ปิดเครื่องด้วยการนอนที่ดีเพื่อให้สมองและร่างกายได้มีโอกาสซ่อมแซม เยียวยาตนเอง

การฝึกทำสมาธิ การให้จิตของเราตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันขณะ ก็ได้ถือว่าเป็นช่วงเวลาพักผ่อน เป็นเครื่องมือชั้นยอดในการลดความเครียด และถอยห่างออกจากโลกที่เร่งรีบและวุ่นวาย

.

Alan Lightman อธิบายว่ามีเป้าหมายหลายอย่างที่ขับเคลื่อนให้ผู้คนลงมือทำ

1) ความสุขจากการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

2) ความเชื่อในคุณค่าบางอย่างที่ผลักดันให้เราลงมือทำ

3) ความปรารถนาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลก

4) ความปรารถนาที่จะส่งเสริมตนเองหรือบรรลุผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงว่าจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อโลกหรือไม่

.

In Praise of Wasting Time เป็นหนังสือเล่มบางๆที่อ่านง่าย ผู้เขียนให้เราถอดปลั๊กออกจากโลกดิจิตัลและเครื่องมือสื่อสาร ตัวที่คอยฉุดดึงจิตใจเราให้วิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลาไม่จบสิ้น ให้เราหันมาทอดเวลา สงบนิ่ง ไตร่ตรองให้กับเรื่องสำคัญในชีวิต มองความงามของธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น เอาใจใส่ตัวเองและคนที่เรารัก อยู่กับปัจจุบันขณะ เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของเราให้มีโอกาสได้ทำงานอย่างเต็มที่

.

.

.

#สุขศาสตร์ #ความสุข #สิ่งสำคัญ #หนังสือ #การอ่าน #ความสัมพันธ์ #inpraiseofwastingtime




ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น