top of page

Self-Storytelling'เรื่องเล่าของฉัน'

Self-Storytelling

'เรื่องเล่าของฉัน'

.

ช่วงนี้เรามักได้ยินเรื่อง Storytelling กันบ่อยมาก เพราะในยุคนี้ทุกคนมีสื่อในมือ เราสามารถเป็นนักข่าวได้ทุกเวลา จะเล่าเรื่องของเราเอง เรื่องของเพื่อน เรื่องของสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจการเล่าเรื่องก็นับเป็นส่วนสำคัญมากขึ้น

.

การเล่าเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เรามีเสียงคุยกับตัวเองในหัวกันทุกคน ทุกวันและทุกเวลา เรื่องราวที่เล่าให้ตัวเองฟังคือการตีความสิ่งรอบตัว เสียงที่ชวนให้คิด ชวนให้ทำหรือชวนให้ไม่ทำ และนั่นทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้

.

ชีวิตเหมือนนิยายเรื่องหนึ่ง

.

เรามักลืมไปว่า เราเป็นนักเขียนของเรื่องนี้และสามารถเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องได้ ชีวิตไม่ใช่แค่การนำเหตุการณ์ต่างๆมาเรียงกัน เราสามารถแก้ไข ตีความและเล่าให้ตัวเราฟังใหม่ได้เสมอ ถึงแม้จะถูกจำกัดด้วยข้อเท็จจริงก็ตาม

.

การเล่าเรื่องเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต เพราะมนุษย์เป็นนักเล่าเรื่องตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ และสิ่งนี้ทำให้เรามีสังคม ส่งต่อความรู้ วิวัฒนาการขึ้นมายังจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เรื่องเล่าในหัวทำให้ชีวิตเรามีหรือไม่มีความหมายได้

.

ตัวอย่างพลังของการเล่าเรื่อง คือการตีความเหตุการณ์ในชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุ เขาไม่สามารถกลับไปเล่นฟุตบอลที่เขารักได้อีก

.

เขาพูดกับตัวเองว่า “ชีวิตฉันเคยมีความสุขมากตอนได้เล่นฟุตบอล แต่ดูตอนนี้สิมันแย่ที่สุดแล้ว” เรื่องราวชีวิตของเขาดูแย่ตามที่คิดจริงๆ เมื่อฟังแบบนี้

.

เวลาผ่านไป ความคิดตกตะกอนและเขาได้ปะติดปะต่อเหตุผลต่างๆ เขาเปลี่ยนวิธีเล่าให้ตัวเองฟังใหม่ว่า “ก่อนเกิดอุบัติเหตุเขาใช้ชีวิตอย่างไร้ความหมาย กินเหล้า ไปปาร์ตี้ทุกวันและค่อนข้างเห็นแก่ตัว แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นเขาค้นพบว่าเขาสามารถเป็นคนที่ดีกว่านั้นได้” เขาใช้ชีวิตต่อจากนั้นโดยการเป็นโค้ชให้เด็กๆ และพบจุดมุ่งหมายในการมอบสิ่งดีๆเพื่อช่วยเหลือคนอื่น

.

คนที่พูดกับตัวเองว่า “ชีวิตเมื่อก่อนดีกว่าตอนนี้…” มีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลและซึมเศร้า เพราะจมอยู่กับอดีตที่หวนคืนมาไม่ได้และปัจจุบันที่น่าผิดหวัง

.

เราสามารถเปลี่ยนมุมมองที่เล่าให้ตัวเองฟังใหม่ได้เสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นถ้าเราสามารถตีความออกมาได้เหมาะสม เรามักจะได้ค้นพบความหมายบางอย่างที่ซ่อนมาในเหตุการณ์นั้น

.

“หลังจากเกิดเรื่องนั้น... มันทำให้เราได้ค้นพบว่า… ชีวิตเราในตอนนี้มีความหมายบางอย่าง”

.

ถ้าเรากำลังเผชิญกับเรื่องเล่าในหัวที่ไม่เข้าท่า เราควรระลึกไว้เสมอว่า คนเขียนคือตัวเรา อำนาจในการแก้ไข เล่าเรื่อง ตีความ อยู่ในมือเรา

.

แค่เราเล่าเรื่องให้ตัวเองฟังด้วยมุมมองใหม่ๆ ถึงแม้จะเป็นเรื่องเดิมแต่เราจะรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนเดิม

.

และเราเล่าเรื่องให้ตัวเองฟังใหม่ได้เสมอ

.

.

จากหนังสือ The Power of Meaning โดย Emily Esfahani Smith''




ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น